ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี
อ่าวคุ้งกระเบนตั้งอยู่ที่ ต. คลองขุด อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. การเข้าชมเป็นหมู่คณะควรติดต่อล่วงหน้าที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนี้ทางศูนย์ยังมีบริการบ้านพักสำหรับบริการหน่วยงานรัฐที่ไปจัดอบรมสัมมนาด้วยโดยต้องติดต่อล่วงหน้า โทร. 0 3936 9216-8 โทรสาร 0 3936 9219
อ่าวคุ้งกระเบน มีลักษณะพิเศษคือถูกปิดล้อมด้วยสันทราย มีทางเข้าออกของน้ำทะเลเพียงทางเดียวและมีคลองน้ำจืดหลายสายไหลลงอ่าว อาณาบริเวณรอบๆ เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน” อันเป็นโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างครบวงจรด้วยวิทยาการสมัยใหม่
ภายในมีบ่อสาธิตการเลี้ยงกุ้งกุลาดำระบบปิด ซึ่งหลายคนสนใจไปเที่ยวชม และจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยป่าโกงกาง ที่นี่จึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจธรรมชาติชายฝั่งและระบบนิเวศของป่าชายเลน ป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบนอยู่ตรงข้ามชายหาดแหลมเสด็จ มีพื้นที่ 1,100 ไร่ ส่วนหนึ่งมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าคุ้งกระเบนและป่าอ่าวแขมหนู แต่เดิมเป็นป่าชายเลนเสื่อมโทรม ต่อมาได้รับการฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิม มีไม้ขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีทางเดินสำหรับให้เดินศึกษาด้วยตนเอง โดยสามารถเดินบนสะพานไม้ความยาว 850 ม. ที่ทอดไปในผืนป่า มีศาลาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ แปดศาลา คือ
ศาลา 1 กำเนิดอ่าวคุ้งกระเบน อธิบายปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการกัดเซาะเทือกเขาเล็ก ๆ ที่โอบตัวปิดล้อมพรุบริเวณริมฝั่งทะเลเมื่อ 345 ล้านปีก่อน กระทั่งกลายเป็นอ่าวเมื่อ 1,500 ปีที่ผ่านมา
ศาลา 2 ไม้เบิก อธิบายถึงพันธุ์ไม้แสมดำและแสมขาวที่เป็นไม้เบิกนำการก่อกำเนิดป่าชายเลน ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์
ศาลา 3 ดงฝาด เป็นจุดที่สวยงามไปด้วยดงต้นฝาด ต้นฝาดแดงจะให้ดอกแดง ส่วนต้นฝาดขาวจะให้ดอกขาว เมื่อผลิดอกเล็ก ๆ จะละลานตาไปทั่ว ต้นฝาดเป็นไม้ที่มีประโยชน์มาก เช่น เนื้อไม้ใช้ย้อมจีวรพระ หรือทำถ่านหุงต้ม ทุบแช่แมงกะพรุน เป็นต้น
ศาลา 4 ป่าปลูก เป็นจุดฟื้นฟูสภาพป่า เดิมมีดงหญ้าทะเลหนาแน่น เคยมีพะยูน หรือหมูดุด อยู่อย่างชุกชุม แต่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากอ่าวคุ้งกระเบนแล้ว นอกจากนี้ยังอธิบายถึงประโยชน์ของปูก้ามดาบในระบบนิเวศป่าชายเลน ก่อนถึงศาลาที่ 5 จะต้องเดินข้ามสะพานแขวนตรงจุดที่เป็นร่องน้ำไหล เพิ่มรสชาติในการเดินเท้าได้ดีทีเดียว
ศาลา 5 ปู่แสม เป็นอีกจุดที่น่าประทับใจ โดยมีสะพานไม้ล้อมรอบต้นแสมขาวโบราณขนาดใหญ่ร่วมสิบคนโอบ ชาวบ้านศรัทธาแสมขาวโบราณต้นนี้โดยเรียกว่าปู่ขาว ปู่แสมมีลำต้นเพียงครึ่งซีก เพราะเคยถูกไฟไหม้ที่ลำต้นในยุคที่ป่าชายเลนที่นี่ยังไม่ได้รับการฟื้นฟู
ศาลา 6 โกงกาง อยู่สุดปลายสะพานก่อนทางเดินจะวกกลับ พื้นที่บริเวณนี้หนาแน่นด้วยโกงกางใบเล็ก อายุไม่น้อยกว่า 30 ปี โกงกางเป็นไม้เด่นในป่าชายเลน โดยพบมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่า บริเวณศาลาแห่งนี้จะมีข้อมูลรายละเอียดประโยชน์ของโกงกาง เช่น เปลือกไม้ใช้ต้มเป็นยาแก้ท้องร่วง บิด หรือพอกแผล ห้ามเลือด หรือหากนำไม้โกงกางมาเผา ก็จะได้ถ่านคุณภาพดี ให้ความร้อนสูงมากกว่าถ่านที่เผาจากไม้ชนิดอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
ศาลา 7 ประมง จุดสาธิตบ่อกุ้งกุลาดำระบบปิด ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ
สุดท้ายคือ ศาลา 8 เชิงทรง หรือป่ารอยต่อระหว่างป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าบก ช่วงรอยต่อระหว่างป่าชนิดต่าง ๆ ดังกล่าวจะมีพรรณไม้ทั้งป่าชายเลน ป่าชายหาด และป่าบก ปะปนกันไป เนื่องจากบางเดือนที่น้ำท่วมถึงบริเวณป่าบกหรือท่วมเข้ามาถึงชายฝั่ง ก็ได้นำต้นพันธุ์ของไม้ชายเลนเข้าไปเจริญเติบโตผสมกับป่าบก พันธุ์ไม้บริเวณนี้จึงมีทั้งตะบูนขาว ตะบูนดำ ไม้ตะบัน ของป่าชายเลน และดอกดองดึงสีเหลืองแดง ต้นเท้ายายม่อมของป่าบก
ขอบคุณ website
http://www.trf.or.th/News/Content.asp?Art_ID=91